พระพุทธรูปปางไสยาสน์หรือปางนอนส่วนใหญ่มักมีพุทธอิริยาบถแบบสีหไสยาสน์ กล่าวคือ นอนตะแคงขวา ไม่ว่าจะเป็นปางโปรดอสุรินทร์ราหู ปางทรงสุบิน ปางปัจฉิมโอวาท ปางพยากรณ์ หรือแม้แต่ปางปรินิพพานก็ล้วนแต่ตะแคงขวาทั้งสิ้น เพราะอย่างนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่จึงคิดว่าพระพุทธรูปมีแต่ปางนอนตะแคงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธรูปนอนหงาย มีอยู่จริงในโลก!
สำหรับพระปางไสยาสน์หรือปางนอนมีทั้งหมด 14 ปาง เป็นปางสีหไสยาสน์ (นอนตะแคง) 11 ปาง และนอนหงายอีก 3 ปาง ได้แก่
1. ปางถวายพระเพลิงแบบมีพระมหากัสสป พุทธอิริยาบทคือพระพุทธองค์ทรงนอนหงาย สองมือวางที่ท้อง พระพุทธรูปปางนี้มีที่เดียวในประเทศไทย คือที่วัดพระนอนและอุทยานมัจฉา จ. สุพรรณบุรี
2. ปางถวายพระเพลิงแบบไม่มีพระมหากัสสป พระอิริยาบถคือพระพุทธเจ้าทรงนอนหงาย พระพาหาวางข้างลำตัว มีพระสงฆ์ซึ่งก็คือพระมหากัสสปนั่งประนมมืออยู่ปลายเท้าของพระพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้มีเพียงองค์เดียวในประเทศไทย คือ หลวงพ่อนอนหงาย วัดราชคฤห์วรวิหาร ธนบุรี
พระพุทธประวัติของพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงนี้ เกิดขึ้นต่อจากปางปรินิพพาน กล่าวคือ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในพุทธอิริยาบถแบบสีหไสยาสน์ (นอนตะแคงขวา) แล้ว เหล่าสาวกไว้อัญเชิญร่างของพระพุทธองค์ลงนอนหงาย หลังจากนั้น 8 วันจึงนำพระศพออกมาเตรียมถวายพระเพลิง ในขณะนั้นพระมหากัสสปกำลังกระทำธุงดงควัตรจึงไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วย เหล่าเทวดาจึงช่วยกันขัดขวางการถวายพระเพลิงเพื่อรอพระมหากัสสป ทำให้จุดไฟอย่างไรก็จุดไม่ติด ทว่าพอพระมหากัสสปมาถึงและกราบพระศพเสร็จแล้ว ไฟก็ลุกติดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด
3. ปางอัฐมีบูชาแบบนอนหงาย ปางอัฐมีบูชาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่พระมหากัสสปมาถึงแล้ว และเชิญสังขารของพระพุทธองค์ลงโลงบรรจุพระศพเพื่อเตรียมการเผากลางแจ้ง ปางอัฐมีบูชาน่าจะเป็นพระพุทธโลกปางเดียวในโลกที่มองไม่เห็นพระพุทธรูป เพราะปางนี้จะมีลักษณะเป็นโลงศพสี่เหลี่ยมและมีพระบาทของพระพุทธองค์ยื่นออกมาจากโลงศพเท่านั้น
ที่จริงแล้วปางอัฐมีบูชาในประเทศไทยมีอยู่ 2 ปางด้วยกัน
ปางแรกคืออัฐมีบูชาแบบนอนตะแคง พระบาทที่ยื่นออกมาจากโลงเรียงตัวกันในแบบนอนตะแคง มีสาวกล้อมรอบหรืออยู่ที่ปลายพระบาท พระพุทธรูปปางนี้ เช่น พระพุทธเจ้าเข้านิพพาน ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ใน กทม. และ พระพุทธรูปที่วัดอินทรารามวรวิหาร เขตธนบุรี
ปางที่สองก็คือปางอัฐมีบูชาแบบนอนหงาย พระบาทที่ยื่นออกมาจากโลงวางคู่กันในแบบของคนที่นอนหงาย มีสาวกอยู่ที่ปลายพระบาท มีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย คือ ที่วัดกลาง อ. นครหลวง จ. พระนครศรีอยุธยา
หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว เวลาที่ใครถามว่าทำไมพระพุทธรูปต้องนอนตะแคงเท่านั้น ก็อย่าเพิ่งโชว์เปิ่นบอกเหตุผลไป เพราะพระพุทธรูปไม่ได้มีแต่ปางนอนตะแคง ปางนอนหงายก็มีตั้ง 3 ปางนะ จะบอกให้